Codeigniter คืออะไร รู้จักและเริ่มทำเว็บไซต์ด้วย php framework
Codeigniter คืออะไร รู้จักและเริ่มทำเว็บไซต์ด้วย php framework
Codeigniter Framework โค้ดอิกไนเทอร์ หรือที่มักนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า CI หรือ ซีไอ เป็นชุดคำสั่งในภาษาพีเอชพีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างกรอบการทำงานในรูปแบบ MVC ( Model View Controller )
โค้ดอิกไนเทอร์ เรียกได้ว่าเป็น PHP Framework ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้การพัฒนาเว็บไซต์มีความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในขั้นตอนของการพัฒนาขึ้นมาใหม่ สามารรถแบ่งสัดส่วนการทำงานได้ ตามหลักเอ็มวีซี ทั้งในขั้นตอนของการปรับปรุงแก้ไขส่วนต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์ ก็สามารถจัดการได้อย่างเป็นระเบียบ ด้วยเพราะอาศัยโครงสร้างของเฟรมเวิร์คที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาด้านนี้โดยตรง อีกทั้งเพื่อลดความซับซ้อนในการเขียนคำสั่งต่าง ๆ ที่มักจะพบเจอเมื่อการพัฒนาเว็บไซต์มีการใช้นักพัฒนามากกว่า 1 คน เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนทีมพัฒนา นักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์สามารถเรียนรู้โครงสร้างพื้นฐานของเฟรมเวิร์คได้ในเวลาไม่นาน ก็สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อได้
ทำไมต้องใช้ framework ทำเว็บไซต์ ?
จุดประสงค์หลักของการสร้าง framework ขึ้นมาก็เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดเวลาการพัฒนาเว็บไซต์ และลดข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากนักพัฒนาเอง เฟรมเวิร์คจะสร้างกรอบการทำงานขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์ผิดพลาดน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะนักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์เอง ไม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถมากขนาดไหน ก็ยังเป็นมนุษย์ที่สามารถผิดพลาดได้ เฟรมเวิร์คจึงเกิดขึ้นไม่ไช่เฉพาะในการพัฒนาเว็บไซต์ ภาษาพีเอชพี แต่รวมไปถึงแพลตฟอร์มอื่น และภาษาอื่นด้วย
จุดเด่นของ โค้ดอิกไนเทอร์
- มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคือ codeigniter 3.1.3 และรองรับ PHP Version 7
- โครงสร้างโดยรวมสามารถเข้าใจได้ง่าย มีตัวอย่างการใช้งานค่อนข้างครบถ้วน ทั้งจากนักพัฒนาทั่วไปและจากเฟรมเวิร์คเอง
- เหมาะกับงานพัฒนาเว็บไซต์ตั้งแต่เว็บไซต์ขนาดเล็ก ไปจนถึงเว็บไซต์ระดับองค์กร
- เป็นการพัฒนาเว็บไซต์แบบ MVC ปลอดภัยและมีขนาดเบา พัฒนาต่อหรือแก้ไขได้ง่าย
- มีเมธอดฟังก์ชั่นให้ใช้งานครอบคุมตั้งแต่ระดับ database มาจนถึง form validate
- ประหยัดขั้นตอนและเวลาในการพัฒนาเว็บไซต์
จำเป็นต้องใช้ framework ทำเว็บไซต์ไหม ?
คำถามคือ เมื่อไหร่ที่เราควรใช้เฟรมเวิร์คทำเว็บไซต์ คำตอบคือ ทุกเมื่อ ไม่ว่าเว็บไซต์นั้นจะเป็นเว็บไซต์ขนาดเล็กหรือเป็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่ระดับองค์กร เราควรใช้เฟรมเวิร์ค คำว่าเฟรมเวิร์คในที่นีหมายถึง รูปแบบหรือกรอบการทำงาน อาจจะเป็นเฟรมเวิร์คที่นักพัฒนา บริษัท องค์กร สร้างขึ้นมาเอง เฟรมเวิร์คมักจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์การทำงาน เมื่อพบข้อผิดพลาดก็สร้างระบบขึ้นมาเพื่อในงานชิ้นต่อไปจะไม่พบข้อผิดพลาดนี้อีก นี่คือข้อดีของการใช้เฟรมเวิร์คในการพัฒนาเว็บไซต์